อาหารก่อนการแข่งขันที่ได้รับการพัฒนาขึ้น
อาหารก่อนการแข่งขันได้รับการพัฒนาขึ้น โดยใช้แหล่งวัตถุดิบจากคาร์โบไฮเดรต 2 แบบ ประกอบด้วย
1.วัตถุดิบภายในประเทศ ได้แก่ มอลโตสไซรัป และ ไฮฟรุกโตสไซรัป
2.วัตถุดิบจากต่างประเทศ ได้แก่ มอลโตสเด็กสตริน และ ฟรุกโตส ส่วนแหล่งอาหารโปรตีนและไขมัน ได้มาจาก โซเดียมเคซีเนต และน้ำมันถั่วเหลือง ตามลำดับ
สูตรอาหารที่ทำการพัฒนาแล้ว จะมีการเติมวิตามินบีรวม วิตามินซี และเกลือแร่ ประกอบด้วย โซเดียม และโปแตสเซี่ยมคลอไรด์
อาหารก่อนการแข่งขัน จะเตรียมขึ้นในรูปเครื่องดื่ม โดยจะมีการแต่งกลิ่น 2 รูปแบบ
1.รูปแบบนม ประกอบด้วย กลิ่นโกโก้ กาแฟ และสตรอเบอรี่
2.รูปแบบของโยเกิร์ตพร้อมดื่ม ประกอบด้วย สับปะรด ส้ม และมะนาว
สูตรอาหารเหลวก่อนการแข่งขัน ได้รับการทดสอบด้านการยอมรับโดยใช้อาสาสมัครจำนวน 45 คน ผลการทดสอบปรากฏว่า กลิ่นโกโก้ของสูตรอาหารเหลวทั้ง 2 ชนิด ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค โดยมีคะแนนยอมรับโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ 6.46 และ 6.29 จากคะแนนการยอมรับ 9 จุด คะแนนของกลิ่นโกโก้ จากการยอมรับด้านอื่นๆ ประกอบด้วย สี กลิ่น รส และความเข้นข้น อยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่ากลิ่นอื่น จากคะแนนการยอมรับ 5 จุด การทดสอบทางเคมี พบว่าสูตรอาหารเหลวทั้ง 2 แบบ ที่ได้รับการพัฒนามีปริมาณของคาร์โบไฮเดรตสูง 76% โปรตีน 9% และไขมัน 15% ของพลังงานทั้งหมด อย่างไรก็ตาม พบว่าอาหารเหลวก่อนการแข่งขันที่มีปริมาตร 250 มิลลิลิตร (serving size) โดยที่ใช้แหล่งวัตถุดิบภายในประเทศ จะมีราคาเท่ากับ 2.07 บาท ถูกกว่าการใช้วัตถุดิบจากต่างประเทศที่มีราคา 3.93 บาท การทดสอบถึงผลของอาหารเหลวก่อนการแข่งขัน ได้ทำการทดสอบในอาสาสมัครที่เป็นนักกีฬาตัวแทนมหาวิทยาลัย จำนวน 12 คน โดยอาสาสมัครทุกคนจะทำการบริโภคอาหารเหลวทั้ง 2 ชนิด เปรียบเทียบกับการได้รับสารที่ไม่มีพลังงาน (placebo) ภายหลังได้รับอาหารเหลวแล้วอาสาสมัครจะทำการพัก 1 ชั่วโมง จากนั้นจะทำการปั่นจักรยานที่ระดับ 70% ของสมรรถภาพการใช้ออกซิเจนสูงสุด จนกว่าจะหมดแรง โดยจะทำการวัดอัตราส่วนของการหายใจ กลูโคส อินซูลิน และแลคเตท ทุกๆ 15 นาที ระหว่างการพักและการออกกำลังอัตราความเมื่อยล้า จะตรวจสอบทุกๆ 5 นาที ระหว่างการออกกำลัง จากการทดลองพบว่า เวลาในการทำงานและอัตราส่วนของการหายใจสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญ ในกลุ่มที่ได้รับอาหารเหลวทั้ง 2 แบบ เมื่อเทียบกับการได้รับที่ไม่มีพลังงาน ในขณะที่อัตราความเมื่อยล้าไม่มีความแตกต่างกัน ระดับกลูโคสและอินซูลินไม่มีความแตกต่างกัน ในกลุ่มที่ได้รับอาหารเหลว และมีค่าที่สูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับสารที่ไม่มีพลังงาน ส่วนแลคเตทไม่มีความแตกต่างกันในกลุ่มที่ได้รับอาหารเหลว ส่วนกลุ่มที่ได้รับสารที่ไม่มีพลังงาน มีแนวโน้มของระดับแลคเตทที่สูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญ ในระหว่างนาทีที่ 75 จากผลการวิจัยพบว่า การได้รับอาหารเหลวก่อนการแข่งขัน จะทำให้ระยะเวลาในการทำงานของร่างกายยาวนานขึ้น ซึ่งหมายความว่า นักกีฬามีความสามารถด้านความอดทนสูงขึ้น เมื่อเทียบกับการได้รับสารที่ไม่มีพลังงาน